วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทิศทางการศึกษาไทยกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

ทิศทางการศึกษาไทยกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
The way of Thail Education for AEC of ASEAN 2015


ศธ.มีนโยบายพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ กระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตลอดจนสามารถก้าวทันและแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งอาเซียน โดยมี ๓ เสาหลัก ได้แก่ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง และความร่วมมือทางสังคม วัฒนธรรม ซึ่งเสาหลักความร่วมมือทางสังคมมีความก้าวหน้ามากที่สุด โดย ศธ.ได้เตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนี้

            จัดให้มีหลักสูตรอาเซียนศึกษา เพื่อให้คนไทยเข้าใจอาเซียน เข้าใจการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมการกิน การอยู่ การดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน จึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่ง ศธ.จะสร้างหลักสูตรที่สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องภายใต้การรวมตัวเป็นประชาคมเดียวกันของคนจำนวนกว่า ๖๐๐ ล้านคน โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนมีความประสงค์จะส่งครูมาสอนในโรงเรียนไทยเป็นจำนวนมาก
การแลกเปลี่ยน ICT ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะต้องเชื่อมโยงภายในประชาคมอาเซียนกันได้ ซึ่งได้มีการจัดตั้ง ASEAN University และ Cyber University เพื่อการเชื่อมโยง นอกจากนี้ยังได้เตรียมการเพื่อให้มีการรับรองคุณวุฒิการศึกษาระหว่างกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียน ซึ่งขณะนี้ไทย-จีน และไทย-มาเลเซีย สามารถรับรองคุณวุฒิได้แล้ว แต่สำหรับฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถรับรองได้
การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน ศธ.ได้ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนที่จบชั้น ป.๖ สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต และสื่อการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยได้เร่งผลักดันและดำเนินการในหลายด้าน เช่น
         ๑) สร้างศูนย์อำนวยการเพื่อให้ครูเจ้าของภาษามาสอน ครูเกษียณอายุก่อนกำหนด และครูอาสาสมัครจากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และฟิลิปปินส์ มาสอนภาษาในโรงเรียน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้
๒) พัฒนาการเรียนการสอนแบบ English for Integrated Studies (EIS) จะมีการบูรณาการการสอนภาษาอังกฤษในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อให้ครูที่จะสอนวิชาเหล่านี้ ได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกัน นักเรียนก็สามารถเชื่อมโยงและพูดคุยกับเพื่อนต่างชาติในประชาคมอาเซียนได้
๓) พัฒนาห้องเรียนแห่งอนาคต (The Global Class) ซึ่งเป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย เช่น การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ การสอนภาษาอังกฤษของติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม โดยครูจะเป็นผู้ควบคุมการสอนและทดสอบความเข้าใจของนักเรียน หากต้องการจะให้สอนซ้ำในช่วงใด ก็สามารถทำได้ทันที ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล โรงเรียนดีประจำอำเภอ และลงไปสู่โรงเรียนดีประจำตำบล
๔) การอบรมภาษาอังกฤษให้กับครู เพื่อให้ครูยุคใหม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และใช้ ICT ได้ ซึ่งในยุคปัจจุบันระบบการศึกษาต้องรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและครูจะต้องเท่าทันต่อเทคโนโลยีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น